ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมไทย
จำนงค์ แรกพินิจ *
1 แนวคิดสองกระแส
ในช่วงที่เพิ่งผ่านมานี้ ความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีวิธีคิดแบบแยกส่วน เน้นความเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาค ขาดความสนใจผู้คนและชุมชนที่ถือเป็นฐานรากของประเทศ แม้ว่าวัฒนธรรมนี้ได้วางรากฐานทางวัตถุแก่โลกนานัปการ โลกที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลกลับเล็กลงด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ประชากรแทบทุกส่วนในโลกสามารถติดต่อและได้รับผลกระทบซึ่งกันและกัน จนโลกปัจจุบันมีสภาพไร้พรมแดน หรือโลกาภิวัฒน์ (Globalization)
แต่อีกด้านของความเติบโตทางวัตถุก็ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาล และที่สำคัญคือ ผู้คนได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ไร้ศักดิ์ศรี และรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะถูกตัดขาดจากกันทางสังคม ทำให้เกิดแนวคิดอีกกระแสหนึ่งขึ้นเรียกว่า กระแสชุมชนท้องถิ่น (Localization) ที่ให้ความสำคัญแก่คนและชุมชนในการกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมของตน เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหมาย มีค่าและมีศักดิ์ศรี เป็นแนวคิดที่มองทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันแบบองค์รวม
ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ อันเป็นผลจากการปะทะกันระหว่างแนวคิดสองกระแสดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมของเรา การนำเสนอประสบการณ์ของชาวบ้านและชุมชนในทุกส่วนของประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาบนพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมได้เรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนแนวคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศใหม่ จนกระทั่งแนวคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเคยเป็นกระแสรองมาก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน
การนำแนวคิดใหม่มาใช้ในการพัฒนาประเทศ จะเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้การกฎเกณฑ์ และกติกาการพัฒนาประเทศแบบเก่า ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขระเบียบกฏหมายของประเทศเพื่อให้สอดรับกับทิศทางใหม่นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เห็นได้จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่กำหนด
-----------------------
* อาจารย์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของตนเอง และการปฏิรูปการศึกษา ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของชาวบ้านและชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) ที่กำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้นำการพัฒนา เหล่านี้ล้วนยืนยันให้เห็นอิทธิพลของแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน
2 พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาประเทศกำลังแพร่หลายในสังคมไทย หรือเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลจากการปะทะกันของความคิดสองกระแสดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้สังคมไทยมีโอกาสทบทวนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในอดีต แสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมของเรา
การพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่หรืองานของรัฐ กิจกรรมหรืองานพัฒนาในยุคแรกๆเกิดขึ้นบนพื้นฐานการมองประชาชนในฐานะโง่ จน เจ็บ ขาดความรู้เรื่องการทำมาหากิน ล้าหลัง ไม่ทันสมัย และด้อยพัฒนา เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้มีความรู้และรายได้เพิ่มขึ้น โดยการฝึกอบรมอาชีพ จัดหาแหล่งทุน และบางครั้งก็ช่วยจัดการด้านการตลาด บทบาทของชาวบ้านเป็นเพียงผู้รับ ส่วนรัฐเป็นผู้ให้ แนวทางการพัฒนานี้ได้กลายเป็นหลักในการทำงานในช่วง 20 ปีแรกของการพัฒนาชนบทไทย คือระหว่าง พ.ศ.2503-2523
แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดในการพัฒนาชนบทไทยจะเปลี่ยนไปบ้าง จากการเน้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนมาเป็นแนวเศรษฐกิจ-สังคม เพราะเห็นว่าการพัฒนาต้องกะทำควบคู่กันทั้งสองด้าน จึงนำเรื่องกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่วิธีทำงานก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดและมีบทบาทสำคัญเหนือชาวบ้านตลอดมา
ปี พ.ศ.2524 ได้เกิดปรากฎการณ์สำคัญที่นำไปสู่การพลิกโฉมการพัฒนาชนบทไทยในเวลาต่อมา กล่าวคือ องค์กรเอกชน (Non-Government Organization =NGO) ที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันวิเคราะห์งานที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น พร้อมกับตั้งคำถาม 25 ข้อ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กๆชื่อ ใครพัฒนาใคร คำถามเหล่านี้เกิดจากงานพัฒนาที่ทำไปแล้วได้สร้างปัญหาให้ชาวบ้านมากมาย และวิธีการทำงานก็ยังเป็นแบบเดิม คือการสอน การบอกเล่า การจัดกระบวนการ และช่วยชาวบ้านทำงาน
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2510 องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทได้เกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือมูลนิธิบูรณะชนบนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมูลนิธินี้ คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีองค์กรทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโปรเตสแตนท์และแคธอลิคต่างได้ทำงานพัฒนาชนบทแนวใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 และได้ก่อตั้งสภาแคธอลิคแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2516 หน่วยงานทั้งสองนี้ได้เป็นแหล่งประสบการณ์ของนักพัฒนาและองค์กรเอกชนพัฒนาชนบทรุ่นต่อๆมา
ผลจาการวิเคราะห์การทำงานและตั้งคำถามตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้นักพัฒนาเอกชนกลุ่มนี้และนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง วัฒนธรรมกับการพัฒนาชนบท เมื่อปลายปี พ.ศ.2524 เพื่อแสวงหาแนวทางให้การพัฒนาตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งหมายถึงการพิจารณาสภาพที่เป็นจริงของวิถีชีวิตชาวบ้าน ความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ ศักยภาพและพลังที่มีอยู่ในชุมชน
ที่สำคัญ การสัมมนาในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมกับการพัฒนาไม่ใช้สองสิ่งที่แยกจากกัน แต่เป็นสิ่งเดียวกัน การพัฒนาคือการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นอกจากนั้น ยังเกิดการยอมรับว่าไม่มีใครรู้ปัญหาชาวบ้านดีไปกว่าชาวบ้าน และไม่มีใครแก้ปัญหาชาวบ้านได้ดีกว่าชาวบ้าน ฉะนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันแก้ปัญหาของชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนลักษณะที่เป็นสากลและลักษณะเฉพาะของการพัฒนาชนบทไทยไปพร้อมกัน ลักษณะที่เป็นสากลก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดและทิศทางการพัฒนาของไทยตลอดช่วง 2 ทศวรรษแรกของการพัฒนา หลังจากนั้นการทำงานได้หันเข้าสู่ลักษณะเฉพาะที่ให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมชุมชน การค้นหาประสบการณ์ระดับชุมชน ทำให้เกิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เกิดจากสภาพที่เป็นจริงของอดีตและปัจจุบันของสังคมไทย และการแสวงหาความร่วมมือจากทุฝ่าย ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาอย่างรอบด้าน มีรากฐานอยู่ที่ระบบคุณค่าดั้งเดิม และแสวงหารูปแบบใหม่เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณแห่งอดีตและการพึ่งตนเอง
สำหรับองค์กรเอกชนด้านการพัฒนาชนบท การสัมมนาในครั้งนั้นได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับยุทธวิธีในการทำงาน คนเหล่านี้ได้ลงพื้นที่ เข้าหมู่บ้าน ทรรศนะเปิดกว้าง ยอมรับคุณค่า และศักยภาพของชาวบ้าน ส่งผลให้ค้นพบผู้นำที่มีความสามารถ และบางคนได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้าน คนเหล่านี้มีภูมิปัญญาที่ประกอบด้วยภูมิรู้และภูมิธรรม
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกๆ คำว่าภูมิปัญญาชาวบ้านใช้สื่อความหมายกันในวงนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเล็กๆแล้วค่อยกระจายออกสู่หน่วยงานอื่นในเวลาต่อมา
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสนใจต่อภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหน่วยงานแรก ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานแห่งนี้ในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้จัดการประชุมสัมมนาครั้งสำคัญขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.2533 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และครั้งที่สอง จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2534 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาชนบท การสัมมนาทั้งสองครั้งนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้แนวคิดนี้เข้าสู่แนวนโยบายของรัฐ ดังเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ในส่วนที่ว่าด้วยวัฒนธรรมกับการพัฒนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น